จุดร่วมของ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” ทิศทางใหม่ของEvent

สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น หากเราร่วมกันรักษาระยะห่าง และปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างรัดกุม  สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ นี่คือเวลาที่ดีที่สุดที่จะติดอาวุธทางธุรกิจเพื่อก้าวสู่ “ความปกติใหม่” (New Normal) ของตลาดไมซ์ทั่วโลก เพราะการจัดงานไมซ์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ธุรกิจใดที่ปรับตัวก่อนย่อมกลับมาได้เร็วกว่า

แวดวงการจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ งานใหญ่ระดับโลกอย่าง World Expo 2020 ที่นครดูไบ (Dubai) ก็ประกาศเลื่อนอย่างไม่เป็นทางการออกไปอีก 1 ปี แม้ว่าการได้พบปะกันแบบ Face to Face จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของงานไมซ์ แต่ในวิกฤตนี้เราได้เห็นหลายงานเปลี่ยนไปจัดแบบออนไลน์มากขึ้นและหลายธุรกิจก็เริ่มพูดถึง “Hybrid Event” ที่เป็นการผสมผสานการจัดงานแบบพบหน้า (ออฟไลน์) ร่วมกับการจัดแบบออนไลน์กันมากขึ้นมาอัปเดตกันว่าทิศทางต่อไปของอุตสาหกรรมการจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าจากทั่วโลกจะเป็นอย่างไร

“UFI Connect” ติดตามข่าวสารจากสมาคมแสดงสินค้าโลก
UFI (The Global Association of the Exhibition Industry) หรือสมาคมแสดงสินค้าโลก ได้สร้างศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าทั่วโลก โดยผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลที่จำเป็น เช่นความเคลื่อนไหวของงานระดับนานาชาติ ผ่านบล็อก (Blog) ที่อัปเดตข่าวสารจากแพลตฟอร์มสำหรับอุตสาหกรรมการจัดแสดงสินค้าทั่วโลก  รวมทั้งสามารถเข้าชมเสวนาออนไลน์ (Webinar) “UFI Connect” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางฟื้นฟูในวิกฤตนี้

สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมหลังโควิด-19 คุณ Mark Cochrane ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ UFI ได้ให้สัมภาษณ์กับ MICE Intelligence Team ว่า “ผลกระทบของอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์การแข่งขันภายในตลาดเปลี่ยนแปลง มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยก็จะสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง การจัดนิทรรศการและแสดงสินค้าจะกลับมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก

มาเจอกันแบบ Face to Face ไม่ได้ แต่การตลาดยังเดินหน้าต่อไป
แม้จะอยู่ในช่วง Physical Distancing แต่ในแง่การตลาดธุรกิจไมซ์ต้องยิ่งใกล้ชิดลูกค้ายิ่งกว่าเก่า  เราสามารถใช้สื่อ “ออนไลน์” เป็นเครื่องมือรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  การสื่อสารภาพลักษณ์แบรนด์ของตัวเองในเชิงเห็นอกเห็นใจและเข้าใจลูกค้าในยามวิกฤตเช่นนี้ จึงสำคัญอย่างยิ่งตัวอย่าง เช่น งาน “World Expo” ที่ได้ประกาศเลื่อนอย่างไม่เป็นทางการ  นอกจากจะออกประกาศอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ฝ่ายจัดงานยังสร้างวีดีโอเพื่อสื่อสาร และให้กำลังใจผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกเพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม้งาน Expo จะเลื่อนไป แต่ความเป็นหนึ่งเดียวและความก้าวหน้าของมนุษยชาติยังดำเนินอยู่ และจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเมื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ดังนั้นไมซ์ไทยก็ควรจะใช้สื่อออนไลน์สร้างความเคลื่อนไหวให้เครือข่ายทางธุรกิจว่า เราพร้อมที่จะเดินหน้าอย่างเข้มแข็งเมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป

Online Trade Show: ทางเลือกใหม่ของงานแสดงสินค้า
NAB Show งานประชุมและแสดงสินค้าด้านสื่อมัลติมีเดียที่แต่เดิมต้องจัดงานในเดือนเมษายนนี้ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาเป็นการนำเสนอประสบการณ์แบบดิจิทัลในเดือนพฤษภาคมแทนโดยใช้เว็บไซต์เป็นแพลตฟอร์ม รวบรวมวีดีโอคอนเทนต์จากสุดยอดธุรกิจด้านสื่อ นำเสนอแบบ 24 ชั่วโมงให้ผู้เข้าร่วมติดต่อธุรกิจกันแบบออนไลน์ใน Marketplace และยังมีห้องสมุดแบบออนไลน์ให้เข้ามาอัปเดตความรู้กันแบบฟรี ๆ อีกด้วย  เป็นตัวอย่างการสร้างประสบการณ์ให้ใกล้เคียงการจัดงานจริง ผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีมากมายในปัจจุบัน

ความได้เปรียบของงานแสดงสินค้าคือการเป็น “สื่อกลาง” ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาด ซึ่งผู้จัดงานควรใช้ความเป็นสื่อกลางสร้างประโยชน์สูงสุดในช่วงวิกฤตนี้ เช่น สร้างศูนย์กลางองค์ความรู้แบบออนไลน์  เสนอแคมเปญสนุก ๆ ที่ช่วยสร้างเครือข่าย (Networking) ระหว่างธุรกิจ   หรือช่วยให้ผู้บริโภคได้ติดตามผ่านการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ ของผู้ผลิตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

งาน NAB Show 2019 ที่ต้องเปลี่ยนมาจัดในรูปแบบออนไลน์ในปีนี้

ปูทางไปสู่ Hybrid Event
ไฮบริด อีเวนท์ (Hybrid Event) เป็นตัวเลือกหนึ่งของอุตสาหกรรมการจัดนิทรรศการและแสดงสินค้าในช่วงฟื้นฟู เพื่อตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางได้ รูปแบบที่ผสมผสานระหว่างงานแบบพบปะกันตามปกติ (ออฟไลน์) และแบบออนไลน์สามารถสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ หลายกิจกรรมมีเทคโนโลยีรองรับแล้ว เช่น  การเสวนาแบบไลฟ์สตรีมมิง (Live Streaming) และการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) แบบออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยเจาะความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalisation) ของผู้เข้าร่วมให้ติดต่อธุรกิจกันง่ายขึ้นซึ่งในระยะต่อไปการสร้างดิจิทัลโชว์รูม (Digital Showroom) หรือห้องแสดงสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีความจริงเสริม หรือ AR (Augmented Reality) ก็จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลายเป็นตัวเลือกใหม่ของงานแสดงสินค้ายุคดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของการจัดนิทรรศการและแสดงสินค้าแบบออนไลน์ หรือ Hybrid Event ให้ผู้เข้าร่วมงานมีประสบการณ์ที่ดีที่สุด คือการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ การรักษาเครือข่ายทางธุรกิจให้แข็งแรงการเพิ่มลูกเล่นและโอกาสพิเศษให้คนมีส่วนร่วมมากที่สุด ถึงแม้จะเป็นกลยุทธ์ในช่วงฟื้นฟูเพื่อเตรียมพร้อมให้โอกาสในการเดินทางกลับมาอีกครั้ง แต่นี่เป็นโอกาสที่ดีของไมซ์ไทยที่จะใช้ประโยชน์จากออนไลน์ ขยายกลุ่มลูกค้า สร้างเครือข่ายที่กว้างและแข็งแรงกว่าเดิม
สามารถติดตามแนวทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในวิกฤตโควิด-19 อัปเดตเทคโนโลยี Virtual Meeting (การประชุมเสมือนจริง) และ Hybrid Event ได้ที่เว็บไซต์ของ TCEB รวมทั้งอัปเดตเครื่องมือทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับไมซ์ไทยได้ทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ของ MICE Intelligence Center