แนวโน้มธุรกิจอีเวนท์ 2563

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว แต่งานอีเวนท์ต่างๆ ยังมากมายเรียงรายมาไม่หยุด ดูแล้วอาจจะสวนกระแสแนวโน้มเศรษฐกิจเสียเหลือเกิน แต่ “ปริมาณ” อาจจะไม่ใช่ดัชนีชี้วัด “มูลค่า” เสมอไป

แพลตฟอร์มงานอีเวนท์หลายแพลตฟอร์มต่างรายงานถึงแนวโน้มของธุรกิจอีเวนท์ในปีนี้ อย่างกลุ่ม EFFRO จากสิงคโปร์ บอกว่า อีเวนท์ในอนาคตจะเปลี่ยนไป “1.Micro Event งานขนาดเล็กแต่เอ็กซ์คลูซีฟ 2.สร้างกระแสในโซเชียล และ 3.ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการจัดอีเวนท์ให้ทันยุคสมัย” (https://www.effro.co.th/)


          ขณะที่ EVENTPOP บอกเลยว่าเทรนด์ปี 2563 ได้แก่ “1.Event Festival Feeling 2.Event Healthy Trends และ 3.Event Technology Trends” (https://www.eventpop.me/–) ส่วน ZIPEVENT แนะให้สร้างสรรค์อีเวนท์มาแรงต้องครบ 4 ประการ ได้แก่ “สะดวกสบาย แปลกใหม่ ความต้องการของผู้บริโภค และนวัตกรรม” (https://www.zipeventapp.com/)


          อย่างไรก็ตาม ลองมาดูมูลค่าภาพรวมของตลาดกันบ้าง ธุรกิจอีเวนท์มีมูลค่าการตลาดระดับหมื่นล้านมาตลอด สำหรับปี 2563 น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าทิศทางจะไปต่ออย่างไร ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปค่อนข้างต่ำ ประเด็นนี้ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีเวนท์ไทย บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจอีเวนท์ไว้อย่างน่าสนใจ 0 ทางด้าน เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ในปี 2561 เป็นปีที่ธุรกิจอีเวนท์กลับมาโตได้อีกครั้ง หลังจาก 4-5 ปีก่อนหน้านั้นตลาดติดลบตลอด แต่ไม่ทันข้ามปีต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอีกครั้งในปี 2562 ที่ประเมินว่ามูลค่าตลาดอีเวนท์อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท หดตัวราว 4% แนวโน้มยังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2563 ตลาดดิ่งอีก 5% ภายใต้จีดีพีจะต่ำกว่า 3% ขณะที่ในส่วนของภาพรวมกลุ่มอุตสาหกรรมอีเวนท์ในประเทศไทยนั้นยังคงทรงตัวหรือติดลบไปจนถึงปลายปี 2563 เนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว


          พร้อมแนะนำเทรนด์ “NUL” หรือ NUL- Niche, Unique and Limited เพื่อปรับรับมือกับเศรษฐกิจขาลง “NUL หรือ NUL- Niche, Unique and Limited ประกอบด้วย Niche กลุ่มตลาดที่มีความเฉพาะตัวและตรงเป้าหมายมากขึ้นอย่าง คอนเสิร์ตใหญ่โกยคนดูมากๆ อาจต้องลดขนาดเล็กลง จับคนดูเฉพาะกลุ่ม อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หรือ Unique ยิ่งขึ้น ต้องแตกต่างด้วยคอนเซปต์ ทำเลการจัดงาน ซึ่งต้องไม่เหมือนคู่แข่ง และพิเศษคือจัดแบบจำกัดหรือ Limited เป็นงานที่จัดครั้งเดียว ไม่มีซ้ำ ทำให้คนต้องการร่วมงานชนิดที่ห้ามพลาด และต้องไป” คุณเกรียงไกรย้ำถึงแนวทางการตลาดที่กระตุ้นให้คนเลือกจ่ายเงินเพื่อแลกกับประสบการณ์ที่พลาดไม่ได้โดยไม่เสียดายเงิน


          พร้อมยกตัวอย่าง “วัดร่องขุ่นไลฟ์เฟส” การแสดงโชว์ระบบมัลติมีเดียระดับเวิลด์คลาส ที่วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย มาเป็นกรณีตัวอย่างซึ่งครบทั้ง Niche เจาะคนดูวัยเกษียณ ผู้ใหญ่ ผู้มีกำลังซื้อสูงในจังหวัดเชียงราย รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย ต่างชาติที่ไปเยือนภาคเหนือ ขณะเดียวกันก็เป็น อีเวนท์ลิมิเต็ด เพราะจัดเพียงครั้งเดียว รวมถึง Unique มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการเนรมิตวัดร่องขุ่นสีขาวให้มีสีสันตระการตาด้วยเทคนิค Projection Mapping ครั้งแรก